วันเสาร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ดีต่อใจ ไช้เถ่าก้วย

   




     
     สวัสดีค่ะท่านผู้อ่านทุกท่าน
     วันนี้นอกจากจะเป็นวันมาฆบูชาแล้ว ยังเป็นเทศกาลที่มีความสำคัญอีกวันหนึ่งของชาวจีนด้วยค่ะ นั่นก็คือ เทศกาลหยวนเซียว (元宵节)ซึ่งภาษาจีนกลางนั้น เรียกเทศกาลนี้ว่า "หยวนเซียวเจี๋ย" แต่ถ้าหากเป็นภาษาจีนแต้จิ๋วแล้วนั้น จะออกเสียงว่า "หง่วงเซียวโจ่ย" ค่ะ
      เทศกาลนี้เป็นเทศกาลโคมไฟ ตรงกับวันที่ ๑๕ เดือน ๑ ตามปฏิทินจันทรคติของจีน เป็นวันสุดท้ายของการเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ ในสมัยโบราณมักจะนำโคมไฟในรูปแบบต่างๆมาประดับประดา โดยมักจะนำสีแดงมาใช้เพื่อให้เกิดความโชคดี
       ส่วนภาพที่ปุ๋ยแนบมานี้ คือ ขนมหัวผักกาด ค่ะ ปุ๋ยภูมิใจนำเสนอเป็นอย่างยิ่งเพราะแม่ของปุ๋ยทำเองเลยค่ะ (เชียร์ของตัวเองกันหน่อย) ซึ่งแม่ของปุ๋ยทั้งทำขายและทำไว้ไหว้เจ้าเองด้วย โดยหง่วงเซียวโจ่ยจะต้องมีขนมชนิดนี้ไว้สำหรับไหว้เจ้าด้วย
       ขนมหัวผักกาด มีชื่อเรียกเป็นภาษาจีนแต้จิ๋วว่า ไช้เถ่าก้วย (菜头粿)เป็นอาหารว่างที่รสชาติอร่อย แต่บ้านของปุ๋ยจะทำไช้เถ่าก้วยเฉพาะเทศกาลไหว้บัวลอย ซึ่งจะอยู่ช่วงสิ้นปี และหง่วงเซียวโจ่ย ซึ่งจะอยู่ในช่วงต้นปีค่ะ เหตุผลที่ทำอาหารว่างชนิดนี้เพื่อไหว้เจ้านั้น ก็คือไช้เท้า เป็นชื่อที่ออกเสียงในภาษาจีนแล้วมีความหมายที่ดี เพราะคำว่า 菜 ซึ่งอ่านว่าไฉ่ ในภาษาจีนแต้จิ๋วนั้น พ้องเสียงกับคำว่า ที่อ่านออกเสียงในภาษาจีนแต้จิ๋วว่า ไช้ อันมีความหมายว่า ร่ำรวย ส่วนคำว่า 头 อ่านออกเสียงเป็นภาษาจีนแต้จิ๋วว่า เท้า มีความหมายว่า หัวหรือศีรษะ นั่นเองค่ะ ดังนั้นการที่นำไช้เถ่าก้วยมาไหว้เจ้านี้ เป็นสิ่งที่มีความหมายมงคลต่อผู้ที่ไหว้เป็นอย่างยิ่งค่ะ เพราะหมายถึง เริ่มต้นปีมีแต่สิ่งดีๆ
        เมื่อนำขนมหัวผักกาดไหว้เจ้าเรียบร้อยแล้วนั้น แม่ของปุ๋ยมักจะนำไปหั่นเป็นชิ้นแล้วทอด ซึ่งอร่อยเป็นอย่างยิ่งค่ะ แต่ถ้ายังไม่อยากรับประทานก็เก็บไว้ในตู้เย็นก่อน แล้วค่อยนำไปหั่นเป็นชิ้นและผัดกับกุ่ยช่ายพร้อมถั่วงอก ก็อร่อยไปอีกแบบค่ะ



฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿
     
        วันนี้นำเสนอเรื่องอาหารว่างที่ดีต่อใจเช่นนี้ หวังว่าผู้อ่านจะมีความสุขในเทศกาลหง่วงเซียวนะคะ
        
        ฉันคือคนหนึ่งที่ชื่อปุ๋ย
        วันเสาร์ที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๖๐



฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿฿
     

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น