วันศุกร์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2561

ครั้งหนึ่งที่ได้ชมพระเมรุมาศแห่งจอมบัลลังก์รัชกาลที่ ๙






     สวัสดีค่ะ ท่านผู้อ่านทุกท่าน 
     ในช่วงสายของวันเสาร์ที่ ๓๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐ ปุ๋ยและคุณแม่ได้ไปชมพระเมรุมาศอันเป็นสถานที่ส่งเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร สู่สรวงสวรรคาลัยเป็นครั้งสุดท้าย ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง บรรยากาศในช่วงสายของวันดังกล่าว ช่างคึกคักยิ่ง ผู้คนมากมายต่างมาชมพระเมรุมาศกัน นักท่องเที่ยวจีนก็เข้ามาชมไม่น้อย ซึ่งพระเมรุมาศในภาษาจีนนั้นเรียกว่า 火丧亭 huǒ sàng tíng อ่านว่า หั่ว ซ่าง ถิง ตามการออกเสียงในภาษาจีนกลาง ก่อนที่พระเมรุมาศแห่งจอมบัลลังก์รัชกาลที่ ๙ จะปิดให้รับชมในวันอาทิตย์ที่ ๓๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐ ค่ะ ปุ๋ยจึงนำภาพของการชมพระเมรุมาศ ในบางส่วนมาให้ทุกท่านได้ชมกันด้วยค่ะ


   
     












     หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคตในวันพฤหัสบดีที่ ๑๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ แล้วนั้น กรมศิลปากรได้ออกแบบพระเมรุมาศโดยเป็นทรงบุษบก  ๙ ยอด ตามโบราณราชประเพณีที่พระมหากษัตริย์จะใช้พระเมรุทรงบุษบกเท่านั้น ในการนี้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ซึ่งในขณะนั้นดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร โปรดให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เป็นองค์ประธานที่ปรึกษาในการจัดสร้างพระเมรุมาศ โดยพระเมรุมาศออกแบบโดย นายก่อเกียรติ ทองผุด นายช่างศิลปกรรมชำนาญการเป็นผู้ออกแบบหลัก และมีนายสัตวัน ฮ่มซ้าย ผู้อำนวยการสำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร นายธีรชาติ วีรยุทธานนท์ สถาปนิกชำนาญการ เป็นผู้ช่วย เป็นพระเมรุมาศทรงบุษบก สูง ๕๐.๔๙ เมตร โดยต่อมาได้ขยายเป็น ๕๓ เมตร มีชั้นเชิงกลอน  ชั้น ผังพื้นที่ใช้งานเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้างด้านละ ๖๐ เมตร มีบันไดทั้งสี่ด้าน ฐานยกพื้นที่สูง มี ๓ ชั้น ชั้นบน ที่มุมทั้งสี่ ประกอบด้วย ซ่างทรงบุษบก ชั้นเชิงกลอนห้าชั้น สำหรับพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม ฐานชั้นที่ ๒ ประกอบด้วยซุ้มทรงบุษบกรูปแบบเดียวกัน รวมสิ่งก่อสร้างมีเครื่องยอดนับรวมได้ ๙ ยอด โดยยอดกลางจะเปรียบเหมือนเป็นเขาพระสุเมรุ และอีก ๘ ยอดเป็นเหมือนยอดเขาสัตตบริภัณฑ์ ซึ่งเปรียบเป็นระบบจักรวาล โดยเปรียบพระมหากษัตริย์เป็นเหมือนสมมติเทพ ศิลปกรรมประกอบพระเมรุมาศ ประกอบด้วยงานศิลปกรรมประกอบอาคาร ฉัตร เทวดา สัตว์หิมพานต์ ประติมากรรมประกอบพระเมรุมาศ พร้อมกับมีการขุดสระอโนดาตขึ้นมาจริงๆด้วยค่ะ




















     












  
     เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป คำนี้คือสัจธรรมของชีวิตค่ะ พระเมรุมาศอันวิจิตรตระการตานี้ก็ต้องได้รับการรื้อถอนออกเช่นกัน โดยวันพฤหัสบดีที่ ๑๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๑ เป็นวันที่กำหนดให้รื้อถอนพระเมรุมาศค่ะ 
     ในเวลา ๗.๓๐ น.ของวันดังกล่าว มีการจัดพิธีทำบุญอุทิศถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฝ่ายฆราวาส และสมเด็จพระวันรัตแห่งวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อมด้วยคณะกรรมการอำนวยการ คณะกรรมการฝ่ายต่างๆ ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ คณะรัฐมนตรี ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ข้าราชการกรมศิลปากร ฯลฯ เข้าร่วมพิธี จากนั้นนายกรัฐมนตรี และผู้ร่วมในการจัดพระราชพิธีทั้งหมดได้ร่วมกันทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ ๘๙ รูป เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลค่ะ 
     และในเวลา ๑๐.๑๐ น. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ ประกอบพิธีบวงสรวงการรื้อถอนและอัญเชิญนพปฎลมหาเศวตฉัตร ลงจากยอดพระเมรุมาศ ในงานพระราชพิธี ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ซึ่งประชาชนโดยรอบต่างมาชมการรื้อถอนพระเมรุมาศด้วย เมื่อรถเครนได้อัญเชิญนพพระปฎลมหาเศวตฉัตรลงจากยอดพระเมรุมาศแล้วนั้น ประชาชนต่างพนมมือไหว้และกราบพระเมรุมาศเป็นครั้งสุดท้าย ประชาชนหลายท่านร่ำไห้อีกครั้งด้วยความโศกเศร้าอาลัย ซึ่งระยะเวลาในการรื้อถอนนั้น จะดำเนินให้แล้วเสร็จภายใน ๖๐ วัน
เครดิตภาพจาก http://news.sanook.com/gallery/gallery/4937330/1265210/

เครดิตภาพจาก https://www.thairath.co.th/content/1175207


เครดิตภาพจาก https://www.thairath.co.th/content/1175207

เครดิตภาพจาก https://www.thairath.co.th/content/1175207

เครดิตภาพจาก https://www.thairath.co.th/content/1175207


+++++++++++++++++++++++++++++++++++

ข้อมูลของพระเมรุมาศจาก 
๑. https://th.wikipedia.org/wiki/พระเมรุมาศ
๒. https://www.thairath.co.th/content/1175207
๓. http://news.sanook.com/4937330/


+++++++++++++++++++++++++++++++++++


ฉันคือคนหนึ่งที่ชื่อปุ๋ย 
วันอังคารที่ ๑๖ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๑ 



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น