วันอาทิตย์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2561

๑๔ ตุลา วันมหาวิปโยค


เครดิตภาพจาก วิกิพีเดีย เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

-------------------------------------------------------------------------------

สวัสดีค่ะ ท่านผู้อ่านทุกท่าน
วันนี้เมื่อ ๔๕ ปีที่แล้ว คือวันที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงเรียกขานว่า “วันมหาวิปโยค” เนื่องด้วยเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๔ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๖ ได้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงอันมาจากการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งผู้คนทั่วไปรู้จักกันว่า “เหตุการณ์ ๑๔ ตุลา”
เหตุการณ์ ๑๔ ตุลา เป็นเหตุการณ์ที่มีนิสิต นักศึกษาและประชาชนมากกว่า ๕ แสนคนชุมนุมเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญจากรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร นำไปสู่คำสั่งของรัฐบาลให้ใช้กำลังทหารเข้าปราบปราม ระหว่างวันที่ ๑๔ ถึง ๑๕ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๖  จนมีผู้เสียชีวิตกว่า ๗๗ ราย บาดเจ็บ ๘๕๗ ราย และสูญหายอีกจำนวนมาก 
เครดิตภาพจาก เฟซบุ๊กแฟนเพจ รักสยาม หนังสือเก่า

เหตุการณ์ครั้งนี้ได้เกิดขึ้นด้วยสาเหตุที่สะสมก่อนหน้านี้หลายประการ ประกอบด้วยข่าวการทุจริตในรัฐบาล การพบซากสัตว์ป่าจากอุทยานในเฮลิคอปเตอร์ทหาร การถ่ายโอนอำนาจของจอมพลถนอม กิตติขจรต่อจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลทหารเข้าปกครองประเทศนานเกือบ ๑๕ ปี และรวมถึงการรัฐประหารตัวเองของจอมพลถนอม กิตติขจร เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศิกายน พุทธศักราช ๒๕๑๔ ซึ่งเป็นชนวนเหตุที่ทำให้ประชาชนเบื่อหน่ายการปกครองในระบอบเผด็จการทหารและต้องการเรียกร้องรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยขึ้น
ในช่วงกลางปี ๒๕๑๖ นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงได้ตีพิมพ์หนังสือ “บันทึกลับจากทุ่งใหญ่” ออกเผยแพร่ต่อสาธารณชน ทำให้ประชาชนเกิดความสนใจในการเมืองมากขึ้น สู่เมื่อต้นเดือนตุลาคมปี ๒๕๑๖ นิสิตนักศึกษาได้เดินแจกใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญตามสถานที่ต่างๆทั่วกรุงเทพฯ จนถูกทหารควบคุมตัว ภายหลังเป็นที่รู้จักกันในฐานะ “๑๓ ขบถรัฐธรรมนูญ” ทำให้มวลนักศึกษาและประชาชนเกิดความไม่พอใจเป็นอย่างมาก นำมาสู่การประท้วงในที่สุด โดยเริ่มต้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนเมื่อวันเสาร์ที่ ๑๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๖ ขบวนนิสิตนักศึกษาและประชาชนเป็นจำนวนมากได้เคลื่อนขบวนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปยังถนนราชดำเนิน ทำให้รัฐบาลได้ทำการสลายการชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก จนเมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงมีพระราชดำรัสทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยต่อเหตุการณ์ครั้งนี้ ในเวลาต่อมาจอมพลถนอม กิตติขจรก็ได้ประกาศลาออกและได้เดินทางออกต่างประเทศรวมถึงพันเอกณรงค์ กิตติขจร และจอมพลประภาส จารุเสถียร เหตุการณ์ ๑๔ ตุลาจึงยุติลง

เครดิตภาพจาก เฟซบุ๊กแฟนเพจ รักสยาม หนังสือเก่า

ในช่วงเช้ามืดของวันที่ ๑๔ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๑๖ พันตำรวจเอกวสิษฐ เดชกุญชร ได้อัญเชิญสำเนาพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อ่านต่อผู้ชุมนุมความว่า
“คนที่เป็นผู้ใหญ่(คนเก่า)นั้นเขามีประสบการณ์ ส่วนคนหนุ่มสาวมีพลังแรงทั้งร่างกายและทั้งความคิด ถ้าหากมาปรองดองสมัครสมานกัน ทำงานอย่างพร้อมเพรียง ไม่ผิดใจแคลงใจกัน การบ้านเมืองก็จะดำเนินไปได้ด้วยดี นิสิตนักศึกษาก็เป็นผู้ที่ผ่านการทดสอบเลือกเฟ้นมาเป็นที่แน่นอนแล้วว่ามีทั้งสติและปัญญาพร้อมมูล จึงควรจะได้รู้ถึงความผิดชอบชั่วดีทุกอย่าง การพิจารณาปัญหาใดๆ จำเป็นต้องทราบว่าปัญหานั้นอยู่ตรงไหน หรืออะไรเป็นปัญหา ต่อไปก็แยกออกเป็นประเด็นให้กระจ่างและถูกต้องโดยลำดับ จึงจะสามารถแก้ปัญหาได้ตรงตามจุดหมายอย่างสมบูรณ์ เมื่อนิสิตนักศึกษาได้ดำเนินการมาตรงเป้าหมาย และได้รับผลตามสมควรแล้ว ก็ขอให้กลับคืนสู่สภาพปกติ เพื่อยังความสงบเรียบร้อยให้เกิดแก่ประชาชนทั่วไป”
ทว่าเหตุการณ์กลับมิได้ยุติลงด้วยความสงบ เมื่อเกิดการสลายการชุมนุมด้วยอาวุธร้ายแรง ในค่ำคืนแห่งวันมหาวิปโยคนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงมีพระราชดำรัสพระราชทานต่อเรื่องราวที่เกิดขึ้นแก่ประชาชนชาวไทยทางโทรทัศน์ ความว่า
“วันนี้เป็นวันมหาวิปโยคที่น่าเศร้าสลดอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย ตลอดระยะเวลา ๖-๗ วันที่ผ่านมาได้มีการเรียกร้องและเจรจากัน จนกระทั่งนักศึกษาและรัฐบาลทำข้อตกลงได้ แต่แล้วการขว้างระเบิดขวดและแก๊สน้ำตา ทำให้เกิดการปะทะกัน และมีคนได้รับบาดเจ็บหลายคน ความรุนแรงได้ทวีขึ้นทั่วพระนครถึงขั้นจลาจลและยังไม่สิ้นสุด มีคนไทยด้วยกันต้องเสียชีวิตนับร้อย ขอให้ทุกฝ่ายทุกคนจงระงับเหตุแห่งความรุนแรงด้วยการตั้งสติยับยั้งเพื่อชาติบ้านเมืองคืนอยู่ในสภาพปกติ
อนึ่ง เพื่อขจัดเหตุร้ายนั้น จอมพลถนอม กิตติขจร ได้ขอลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อค่ำวันนี้ ข้าพเจ้าจึงได้แต่งตั้งให้นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ขอให้ทุกคนทุกฝ่ายร่วมกันสนับสนุน เพื่อให้คณะรัฐบาลใหม่สามารถบริหารแผ่นดินได้โดยมีประสิทธิภาพเต็มเปี่ยม และแก้ไขสถานการณ์ให้คืนอยู่ในสภาพเรียบร้อยโดยเร็ว ยังคงความสงบสุข ความเจริญรุ่งเรืองให้บังเกิดกับประเทศชาติและประชาชนชาวไทยโดยทั่วกัน”
จากเหตุการณ์นี้ได้มีการก่อสร้างอนุสรณ์สถาน ๑๔ ตุลาขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าวบริเวณ สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนินกลาง พร้อมทั้งก่อตั้งมูลนิธิ ๑๔ ตุลาขึ้นด้วย ต่อมาได้มีการกำหนดให้วันที่ ๑๔ ตุลาคมของทุกปีเป็น “วันประชาธิปไตย” เพื่อรำลึกถึงพลังบริสุทธิ์ของคนหนุ่มสาวที่เสียสละชีวิตเพื่อประชาธิปไตย 

เครดิตภาพจาก เฟซบุ๊กแฟนเพจ รักสยาม หนังสือเก่า


ด้วยเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง ซึ่งส่งผลให้ประชาชนในชาติมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน และก่อให้เกิดการวิวาทในที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา หรือ เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ก็ล้วนสร้างความทุกข์โทมนัสแด่องค์ราชันแห่งแผ่นดินเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชประสงค์ให้ประชาชนของพระองค์มีความสมัครสมานสามัคคีกัน ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
แม้ว่าเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา จะผ่านมานานถึง ๔๕ ปีแล้ว แต่ภาพแห่งความทรงจำของบุคคลที่ได้ร่วมในเหตุการณ์นี้ก็ยากนักที่จะลืมเลือน อุดมการณ์แห่งประชาธิปไตยยังคงมีอยู่ ด้วยหวังว่าประเทศไทยจะมีประชาธิปไตยเต็มขั้น 

เครดิตภาพจากthaipbs-vod.cdn.byteark.com/images/video-frames/1/Dv/wF/1DvwFjPslaEV-default.jpg

และในวันนี้เมื่อ ๒ ปีก่อนคือวันที่เคลื่อนพระบรมศพจอมบัลลังก์รัชกาลที่ ๙ จากโรงพยาบาลศิริราชไปยังพระบรมมหาราชวัง ผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ร่วมเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ที่เข้าพึ่งพิงพระบารมีของจอมราชาแห่งสยามในวันนั้น รู้สึกเศร้าเสียใจอย่างสุดซึ้ง เพราะพวกเขาปลอดภัยได้ด้วยน้ำพระทัยอันแสนยิ่งใหญ่ของพระองค์ จึงนับได้ว่าวันที่ ๑๔ ตุลาคมของทุกปีคือ “วันมหาวิปโยค” โดยแท้จริง

------------------------------------------------
ข้าพระพุทธเจ้าน้อมสำนึกในพระมหากรุณาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชอันหาที่สุดมิได้
------------------------------------------------
ฉันคือคนหนึ่งที่ชื่อปุ๋ย
วันอาทิตย์ที่ ๑๔ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑
      



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น