สวัสดีค่ะ ท่านผู้อ่านทุกท่าน
ในช่วงสายของวันเสาร์ที่ ๓๐ ธันวาคม
พุทธศักราช ๒๕๖๐ ปุ๋ยและคุณแม่ได้ไปชมพระเมรุมาศอันเป็นสถานที่ส่งเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร สู่สรวงสวรรคาลัยเป็นครั้งสุดท้าย ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง
บรรยากาศในช่วงสายของวันดังกล่าว ช่างคึกคักยิ่ง ผู้คนมากมายต่างมาชมพระเมรุมาศกัน นักท่องเที่ยวจีนก็เข้ามาชมไม่น้อย ซึ่งพระเมรุมาศในภาษาจีนนั้นเรียกว่า 火丧亭 huǒ sàng tíng อ่านว่า หั่ว ซ่าง ถิง ตามการออกเสียงในภาษาจีนกลาง ก่อนที่พระเมรุมาศแห่งจอมบัลลังก์รัชกาลที่ ๙ จะปิดให้รับชมในวันอาทิตย์ที่ ๓๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐ ค่ะ
ปุ๋ยจึงนำภาพของการชมพระเมรุมาศ ในบางส่วนมาให้ทุกท่านได้ชมกันด้วยค่ะ
หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคตในวันพฤหัสบดีที่ ๑๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ แล้วนั้น กรมศิลปากรได้ออกแบบพระเมรุมาศโดยเป็นทรงบุษบก ๙ ยอด ตามโบราณราชประเพณีที่พระมหากษัตริย์จะใช้พระเมรุทรงบุษบกเท่านั้น ในการนี้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ซึ่งในขณะนั้นดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร โปรดให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เป็นองค์ประธานที่ปรึกษาในการจัดสร้างพระเมรุมาศ โดยพระเมรุมาศออกแบบโดย นายก่อเกียรติ ทองผุด นายช่างศิลปกรรมชำนาญการเป็นผู้ออกแบบหลัก และมีนายสัตวัน ฮ่มซ้าย ผู้อำนวยการสำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร นายธีรชาติ วีรยุทธานนท์ สถาปนิกชำนาญการ เป็นผู้ช่วย เป็นพระเมรุมาศทรงบุษบก สูง ๕๐.๔๙ เมตร โดยต่อมาได้ขยายเป็น ๕๓ เมตร มีชั้นเชิงกลอน ๗ ชั้น ผังพื้นที่ใช้งานเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้างด้านละ ๖๐ เมตร มีบันไดทั้งสี่ด้าน ฐานยกพื้นที่สูง มี ๓ ชั้น ชั้นบน ที่มุมทั้งสี่ ประกอบด้วย ซ่างทรงบุษบก ชั้นเชิงกลอนห้าชั้น สำหรับพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม ฐานชั้นที่ ๒ ประกอบด้วยซุ้มทรงบุษบกรูปแบบเดียวกัน รวมสิ่งก่อสร้างมีเครื่องยอดนับรวมได้ ๙ ยอด โดยยอดกลางจะเปรียบเหมือนเป็นเขาพระสุเมรุ และอีก ๘ ยอดเป็นเหมือนยอดเขาสัตตบริภัณฑ์ ซึ่งเปรียบเป็นระบบจักรวาล โดยเปรียบพระมหากษัตริย์เป็นเหมือนสมมติเทพ ศิลปกรรมประกอบพระเมรุมาศ ประกอบด้วยงานศิลปกรรมประกอบอาคาร ฉัตร เทวดา สัตว์หิมพานต์ ประติมากรรมประกอบพระเมรุมาศ พร้อมกับมีการขุดสระอโนดาตขึ้นมาจริงๆด้วยค่ะ
เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป คำนี้คือสัจธรรมของชีวิตค่ะ พระเมรุมาศอันวิจิตรตระการตานี้ก็ต้องได้รับการรื้อถอนออกเช่นกัน โดยวันพฤหัสบดีที่ ๑๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๑ เป็นวันที่กำหนดให้รื้อถอนพระเมรุมาศค่ะ
ในเวลา
๗.๓๐ น.ของวันดังกล่าว มีการจัดพิธีทำบุญอุทิศถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี เป็นประธานฝ่ายฆราวาส และสมเด็จพระวันรัตแห่งวัดบวรนิเวศวิหาร
เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อมด้วยคณะกรรมการอำนวยการ คณะกรรมการฝ่ายต่างๆ
ในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ คณะรัฐมนตรี ผู้บัญชาการเหล่าทัพ
ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ข้าราชการกรมศิลปากร ฯลฯ เข้าร่วมพิธี จากนั้นนายกรัฐมนตรี
และผู้ร่วมในการจัดพระราชพิธีทั้งหมดได้ร่วมกันทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ ๘๙ รูป
เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลค่ะ
และในเวลา ๑๐.๑๐ น.
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี
เป็นผู้แทนพระองค์ ประกอบพิธีบวงสรวงการรื้อถอนและอัญเชิญนพปฎลมหาเศวตฉัตร
ลงจากยอดพระเมรุมาศ ในงานพระราชพิธี
ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
ซึ่งประชาชนโดยรอบต่างมาชมการรื้อถอนพระเมรุมาศด้วย เมื่อรถเครนได้อัญเชิญนพพระปฎลมหาเศวตฉัตรลงจากยอดพระเมรุมาศแล้วนั้น
ประชาชนต่างพนมมือไหว้และกราบพระเมรุมาศเป็นครั้งสุดท้าย
ประชาชนหลายท่านร่ำไห้อีกครั้งด้วยความโศกเศร้าอาลัย ซึ่งระยะเวลาในการรื้อถอนนั้น
จะดำเนินให้แล้วเสร็จภายใน ๖๐ วัน
เครดิตภาพจาก http://news.sanook.com/gallery/gallery/4937330/1265210/
เครดิตภาพจาก https://www.thairath.co.th/content/1175207
เครดิตภาพจาก https://www.thairath.co.th/content/1175207
เครดิตภาพจาก https://www.thairath.co.th/content/1175207
+++++++++++++++++++++++++++++++++++
ข้อมูลของพระเมรุมาศจาก
๑. https://th.wikipedia.org/wiki/พระเมรุมาศ
๒. https://www.thairath.co.th/content/1175207
๓. http://news.sanook.com/4937330/
+++++++++++++++++++++++++++++++++++
ฉันคือคนหนึ่งที่ชื่อปุ๋ย
วันอังคารที่
๑๖ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๑