วันศุกร์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2562

เรื่องควรรู้เกี่ยวกับเทศกาลเช็งเม้ง

     เรื่องควรรู้เกี่ยวกับเทศกาลเช็งเม้ง  

     ระยะเวลาผ่านไปอย่างรวดเร็วนะคะ หลังจากตรุษจีนผ่านมาไม่นาน ก็เข้าสู่ช่วงเทศกาลเช็งเม้ง ซึ่งเป็น
เทศกาลหนึ่งในแปดเทศกาลใหญ่และสำคัญของคนจีน ข้อมูลที่ปุ๋ยจะนำเสนอในวันนี้ เป็นข้อมูลที่ได้รับจากไลน์มานะคะ ปุ๋ยจึงนำมาเสนอให้ทุกท่านได้อ่านเพื่อเพิ่มเติมความรู้และประเพณีที่ควรปฏิบัติสำหรับเทศกาลเช็งเม้งค่ะ 

     เทศกาลเช็งเม้ง ซึ่งออกเสียงเป็นภาษาจีนแต้จิ๋วว่า เช็งเหม่งโจ่ย (清明節) คือ การเยี่ยมเยียนและทำความสะอาด รวมถึงเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่สุสาน ดังที่คนแต้จิ๋วหลายครอบครัวมักเรียกว่า “คั้วจั้ว หรือ คั้วชุงจั้ว (掛紙 /掛春紙)”  คั้วจั้ว คือ การแขวนกระดาษสีตกแต่งสุสานในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ในขณะที่คั้วตังจั้ว(掛冬紙) คือ การเซ่นไหว้สุสานในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปลายปี ราวๆเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม ซึ่งนิยมในจีนบางท้องถิ่น
     แต่เดิมใช้วันแรกของสารทเช็งเม้งเป็นวันประกอบพิธีเพียงวันเดียว แต่ต่อมาเพื่อความสะดวก ก็นิยมก่อนวันตรงสามวัน หลังวันตรงสามวัน ซึ่งวันตรงของเทศกาลเช็งเม้งคือวันที่ ๔ เมษายน หรือวันที่ ๕ เมษายนของทุกปี แต่ระยะหลังมานิยมไหว้ได้ทั้งในสารทชุนฮุง จนถึงวันเริ่มสารทเช็งเม้ง เป็นช่วงเวลาที่ไปไหว้เช็งเม้ง ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวจะอยู่ราววันที่ ๒๑ มีนาคม ถึงวันที่ ๕ เมษายนของทุกปี ปัจจุบันมีคนสับสนว่าต้องไหว้ได้หลังชุงฮุงเท่านั้น หากไหว้ก่อนบรรพบุรุษจะไม่สามารถรับของไหว้ ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะที่จริงชุงฮุงและเช็งเม้ง เป็นคนละสารทกัน 
     ในปัจจุบันยังพบว่าครอบครัวจีนแคะหลายบ้านนิยมไปไหว้เร็วคือตั้งแต่หลังเทศกาลหง่วงเซียว และในท้องถิ่นอำเภอศรีราชา อำเภอบางพระ จังหวัดชลบุรี ยังนิยมไปไหว้บรรพชนที่สุสานในวันชุงฮุง ซึ่งก็เป็นความนิยมท้องถิ่นไป นอกจากนี้ หลายๆครอบครัวยังนิยมไปไหว้เช็งเม้งในวันที่ ๓ เดือน ๓ ตามปฏิทินจันทรคติของจีน (三月初三:ซาหง่วยชิวซา) โดยปีนี้ตรงกับวันที่ ๗ เมษายน เรียกว่า เหล่าเช็งเม้ง หรือ โก๋วเช็งเม้ง ซึ่งหมายถึง เช็งเม้งโบราณ ค่ะ 
     ธรรมเนียมการประกอบพิธีเช็งเม้งนั้น ลูกหลานต้องไปทำความสะอาดฮวงจุ้ยของบรรพชน ปัดกวาดเช็ดถู ถางหญ้า และเขียนเติมสีอักษรป้ายหินสุสานใหม่ เหตุที่หลักใหญ่อยู่ที่การทำความสะอาดมาจากหลักคิดของความกตัญญูที่มีต่อบรรพชนที่ฝังอยู่ในมโนสำนึกของลูกหลานจีนทุกคน โดยถือว่าฮวงจุ้ยเป็นบ้านของบรรพชนผู้ล่วงลับ ดังนั้นลูกหลานต้องไปดูแลทำความสะอาดและบำรุงรักษาอย่างน้อยปีละ ๑ ครั้ง และเมื่อลูกหลานไปทำความสะอาดแล้วจึงถือโอกาสเซ่นไหว้บรรพชนไปด้วยในตัว ซึ่งธรรมเนียมการเซ่นไหว้นี้บางท้องถิ่นก็เซ่นไหว้หน้าฮวงจุ้ยเป็นชุดใหญ่ แต่บางท้องถิ่นก็เซ่นไหว้ที่บ้านชุดใหญ่แล้วไปทำความสะอาดฮวงจุ้ยและจุดธูปเทียนสักการะพร้อมแขวนหรือวางกระดาษสีเท่านั้นก็มี ขึ้นอยู่กับความนิยมและความสะดวกของครอบครัวลูกหลาน เทศกาลเช็งเม้งยังมีความสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ เป็นเทศกาลที่นิยมการตั้งโต๊ะไหว้บรรพชนทุกรุ่นของเรา 
     การไปทำความสะอาดและไหว้ที่ฮวงจุ้ยปัจจุบันมีความเข้าใจผิดอยู่หลายประการ อันเนื่องมาจากมีบุคคลที่ไม่รู้แต่อยากเอาวัฒนธรรมมาเป็นสินค้าทางการตลาด จึงนำความรู้ผิดๆมาเผยแพร่และผู้ที่ไม่รู้ก็เผยแพร่ต่อๆกันไป ซึ่งจะได้เขียนอธิบายดังนี้
     ๑.โต๊ะหน้าป้ายหน้าฮวงจุ้ย เป็นที่นั่งของวิญญาณบ้างเป็นทางออกของวิญญาณบ้าง ข้อมูลแบบนี้เป็นข้อมูลที่ผิดและไม่ตรงกับข้อเท็จจริง แท้จริงแล้วโต๊ะตัวนี้เรียกว่า จี่ชึ้ง(祭床) หมายถึง โต๊ะเซ่นไหว้ จี่มาจากคำว่า จีไป่(祭拜) ที่แปลว่า เซ่นไหว้ เหตุที่ต้องมีโต๊ะตัวนี้เพราะเวลานำร่างบรรพชนลงฝังในฮวงจุ้ย ปลายเท้าของท่านจะหันมาด้านหน้าฮวงจุ้ย และอยู่ในระดับเดียวกันหรือใกล้เคียง กับป้ายหินหน้าฮวงจุ้ยดังนั้นจึงจัดทำโต๊ะตัวนี้ไว้ปลายเท้าเพื่อให้ลูกหลานวางธูปเทียนดอกไม้และอาหารกราบไหว้ปลายเท้าเพื่อเป็นการแสดงกตัญญูกตเวทิตาอย่างสูงสุด ดังนั้นการเอาสิ่งของเช่นธูปเทียนอาหารไหว้บนโต๊ะตัวนี้เป็นการเหมาะสมและแสดงออกถึงความกัตตญูเป็นอย่างยิ่ง
     ๒.การจุดประทัด มีความเข้าใจผิดว่าการจุดประทัดเมื่อไหว้เสร็จจะเป็นการกระตุ้นโชคลาภ แต่แท้จริงแล้ว ฮวงจุ้ยบรรพชนเป็นการสร้างตามหลัก ๕ ธาตุและดาว ๙ ดวง ดังนั้นฮวงจุ้ยบรรพชนจึงห้ามกระทบแบบไม่ถูกหลัก เนื่องเพราะบางตำแหน่งหากมีการกระทบอาจทำให้ลาภเสื่อมหรือบารมีเสื่อม ดังนั้นการจุดประทัดในตำแหน่งที่ห้ามกระทบจะส่งผลเสียมากกว่า เราจึงไม่ควรจุดประทัดบริเวณฮวงจุ้ย
     ๓.การตกแต่งฮวงจุ้ยด้วยกระดาษสี และของตกแต่งมีข้อห้ามเด็ดขาดข้อหนึ่ง คือการเอาของแหลมปักลงบนฮวงจุ้ย ดังนั้นการเอาธงสีปักลงในฮวงจุ้ยจึงเป็นข้อห้ามที่ไม่ให้กระทำ เพราะจะปักโดนดวงวิญญาณ ดังนั้นจึงควรใช้กระดาษสีวางบนป้ายหินสลักชื่ออย่างในสมัยโบราณหรือจะโปรยตกแต่งบนเนินดินหลังเต่าก็พอ ทั้งนี้ บางครอบครัวมีธรรมเนียมว่าหากเป็นหลุมที่เตรียมไว้แต่เจ้าของยังมีชีวิตอยู่(แซกี) จะโปรยตกแต่งเฉพาะกระดาษสีแดงล้วน แต่หากเป็นหลุมที่มีผู้อยู่แล้ว (ฮกกี) จะใช้กระดาษหลากสีโปรยตกแต่ง
     ๔.ไม่ไหว้ด้วยช้อน ธรรมเนียมนี้มาจากหลักคิดที่ว่าให้บรรพชนเหลือให้ลูกหลานกินใช้ ดังนั้นการไหว้ด้วยช้อนหรือสิ่งใกล้เคียงกับช้อน เช่น กระบวยทัพพี เป็นการจะทำให้บรรพชนรับประทานอาหารหมด ไม่เหลือให้ลูกหลาน การไหว้ด้วยช้อนและสิ่งใกล้เคียงเป็นสิ่งต้องห้าม
     ๕.การถมดินบนหลังฮวงจุ้ย สามารถทำได้หากดินถูกน้ำฝนชะไป ควรถมกลับให้ได้รูปทรงเดิม โดยนิยมพูนเป็นเนินคล้ายกระดองเต่า
     ๖.ของไหว้สำหรับหน้าฮวงจุ้ยสามารถจัดของได้ตามที่ต้องแต่มีของอยู่3อย่างที่ต้องมีไหว้คือ
     ๖.๑ ปลาช่อนนึ่งหรือทอด การไหว้ปลาช่อนจะทำให้ที่ดินของฮวงจุ้ยมีพลัง สามารถส่งพลังเหล่านั้นให้ลูกหลาน
     ๖.๒ หอยแครง สำหรับจีนแต้จิ๋วแล้ว การไหว้หอยแครงมีความหมายถึง การที่ลูกหลานมาพบกับบรรพชน(กุกเน๊กเซี่ยงเกี่ยง หมายถึง เนื้อกับกระดูกมาเจอกัน บรรพชนเปรียบกับกระดูกหรือเปลือกหอย ลูกหลานเปรียบกับเนื้อ) บางความเชื่อหมายถึงการเก็บโชคลาภให้ลูกหลาน และมีธรรมเนียมอีกว่าให้ลูกหลานกินหอยแครงแล้วโยนเปลือกไปบนฮวงจุ้ยเพื่อเก็บเอาพลังแห่งโชคลาภบนฮวงจุ้ยและเป็นสัญลักษณ์ว่าลูกหลานได้มาไหว้แล้ว นอกจากนี้ยังเปรียบเปลือกหอยเป็นเบี้ย คือเงินเบี้ยสมัยโบราณ จึงมีความหมายมงคล อีกทั้งเปลือกหอยที่โยนไว้ยังชะลอการไหลของดินลงจากเนินเมื่อถูกน้ำชะอีกด้วย
     ๖.๓ ไข่เป็ดต้มย้อมสีแดง โดยนิยมไหว้รวมในเนื้อสัตว์สามชนิด(ซาแช)การไหว้ไข่แดงนี้มีความหมายคือให้ลูกหลานเจริญรุ่งเรืองและนิยมปฎิบัติเช่นเดียวกับการไหว้หอยแครงคือเมื่อไหว้เสร็จให้ลูกหลานทานไข่แล้วโยนเปลือกไข่ไปบนฮวงจุ้ย
     ๖.๔ ขนมจือชังเปียะ(芝蔥餅) เป็นขนมที่ทำด้วยงาและต้นหอมเป็นขนมเปี้ยะประจำเทศกาลเช้งเม้งของคนแต้จิ๋วจากเขตเตี่ยเอี๊ย มีสองแบบคือแบบสดและแบบกรอบสามารถไหว้ได้ทั้งสองแบบ
     ๖.๕ ขนมนก หรือ เจี่ยวเปียะ(鳥餅)อันนี้เป็นขนมที่คนแต้จิ๋วจากเขตเตี่ยเอี๊ยที่นิยมไหว้ด้วยเชื่อว่าจะได้ลาภผลว่องไว และเปรียบกับการเดินทางไปเซ่นไหว้ในสมัยโบราณที่ต้องเดินทางไกล
     การเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่สุสานจะเดินทางไปไหว้ช่วงใดของปี จะสักการะด้วยของสิ่งใดมากหรือน้อย ไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะธรรมเนียมและความนิยม ย่อมมีความเหมือน และความแตกต่าง มีหลากหลาย เพียงแต่ทำด้วยความเข้าใจ แต่คงไม่สำคัญเท่ากับลูกหลานพร้อมใจกันไปเซ่นไหว้ด้วยความสามัคคีกลมเกลียว สักการะด้วยจิตสำนึกในพระคุณ ด้วยความกตัญญูกตเวทีเป็นที่ตั้ง ดังคำสอนจีนว่า
百善孝為先 (ไป่ซ่านเสี้ยวเหวยเซียน) คุณธรรมทั้งปวงล้วนมีความกตัญญูเป็นปฐม 
     เรามิอาจล่วงรู้ได้ว่าบรรพชนจะยังอยู่ จะได้รับข้าวของหรือการเซ่นไหว้ของเราหรือไม่ หากแต่เรารู้ว่า ในรอบปีนี้เราได้พบเจอญาติพี่น้องในตระกูลและได้พร้อมใจกันระลึกคุณแห่งบุคคลอันเป็นที่รักที่ล่วงลับไปแล้ว ได้เยี่ยมเยียนท่านเสมือนกับท่านยังอยู่ และได้แต่หวังว่าท่านคงปลื้มใจและคอยเป็นกำลังใจให้ลูกหลานของท่านเจริญรุ่งเรืองสืบไปค่ะ
 
     ขอให้ลูกหลานกตัญญูทุกท่านเจริญรุ่งเรืองค่ะ  
     孝子賢孫 富貴昌盛 五代同堂



     แหล่งที่มาของข้อมูลจากเพจ "ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย" 


+ + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + +

     ฉันคือคนหนึ่งที่ชื่อปุ๋ย 

     วันศุกร์ที่ ๒๙ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒ 


เพิ่มแรงใจสู้ทุกอุปสรรคด้วยเรื่องราวของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ฉบับที่ ๑




     สวัสดีค่ะ ท่านผู้อ่านทุกท่าน 

     ห่างหายจากการพบปะกับทุกท่านมาเป็นเวลานาน วันนี้ได้โอกาสที่ดีจึงกลับมาพบกับทุกท่านอีกครั้งค่ะ 
     ในแต่ละวันทุกท่านคงต้องพบเจอกับการทำงานอันแสนเหนื่อยล้า อาจทำให้รู้สึกเบื่อ ไม่อยากไปทำงาน ซึ่งถ้าเรารู้สึกเช่นนี้ทุกวัน ก็คงแย่ต่อสุขภาพจิตอย่างแน่นอนค่ะ ดังนั้นแล้ว เราควรปล่อยวางความเครียดนี้ลง แล้วเปลี่ยนมาหาความรื่นรมย์ให้กับตนเองมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการฟังเพลงที่ทำให้เราผ่อนคลาย ดูละครตลก หรืออาจจะอ่านหนังสือที่สร้างรอยยิ้มให้กับเราค่ะ 
     เมื่อกล่าวถึงหนังสือแล้ว ปุ๋ยได้อ่านหนังสืออันทรงคุณค่าอยู่เล่มหนึ่งค่ะ เป็นหนังสือเกี่ยวกับพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า "แสงแห่งแผ่นดิน" ปุ๋ยอ่านมาที่หน้า ๓๗ เป็นเรื่องราวของพระองค์ท่านสมัยยังทรงพระเยาว์ ในหน้านั้นได้บรรยายว่า 
     "ช่างคิดช่างจำนรรจา
     ในบรรดาเจ้านายเล็กๆทั้งสามพระองค์แห่งราชสกุลมหิดล สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช หรือ "พระองค์เล็ก" ทรงมีบุคลิกที่ร่าเริงแจ่มใส เต็มไปด้วยความมีชีวิตชีวา เฉลียวฉลาดช่างคิด ช่างจำนรรจา ทรงเป็นความสว่างสดใสของครอบครัวมาแต่ไหนแต่ไร
     เมื่อครั้งประทับในสวิตเซอร์แลนด์ช่วงปีแรก หม่อมสังวาลย์ฯ เล่าถึงพระโอรสพระองค์เล็กเมื่อมีพระชันษาย่าง ๖ ปี ในจดหมายถึงสมเด็จพระพันวัสสาฯ เดือนกันยายน พ.ศ.๒๔๗๖ ปรากฎไว้ในหนังสือ "เจ้านายเล็กๆ-ยุวกษัตริย์" ว่าพระองค์เล็กทรงรู้จักเป็นห่วงการเรียนท่องศัพท์ที่ครูให้มาและยังช่างเจรจา "...เล็กเดี๋ยวนี้ตั้งต้นว่าคนเก่ง ว่าท่านรัศมีบอกชื่อหนูไม่เห็นดี เดี๋ยวแมวมากัด เมื่อเช้านี้นันทโกรธ ก็ว่านันทโกรธมากไม่ดี แก่เร็ว และหัวจะล้านด้วย" 
     ครั้งหนึ่งพระเชษฐากริ้วอะไรไม่ทราบ ทรงทำท่าจะบิดรางรถไฟเสียให้หัก พระอนุชาจึงรีบขอว่าอย่าทรงทำเช่นนั้นเลย "ประทานน้องเสียดีกว่า"
     ในราว พ.ศ.๒๔๗๘ “ทูลหม่อมป้า” ของเจ้านายเล็กๆ หรือสมเด็จเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ฯ เสด็จไปรักษาพระองค์ที่สวิตเซอร์แลนด์ และทรงแวะเยี่ยมครอบครัวมหิดล พระอนุชาได้ทรงบอกกับพระพี่เลี้ยงแหนนผู้ทำอาหารเลี้ยงรับรองว่า “แหนนต้องทำอาหารอร่อยๆนะ...เพราะทูลหม่อมป้าท่านเป็นญาติของเรา” 
     “ทูลหม่อมป้า” ก็ทรงมีจดหมายทูลสมเด็จพระพันวัสสาฯ ถึงพระราชนัดดาพระองค์เล็กอย่างทรงเอ็นดูว่า “เล็กพูดภาษาไทยต่อกับฝรั่งเศสเป็นประโยคเดียวปนกัน ให้เงินไป ๕ แฟรงค์สวิส ดีใจใหญ่” 

     "พระอนุชาไม่อาย และคุยเก่ง ทูลหม่อมป้าจึงโปรด ข้าพเจ้าได้นาฬิกาแต่ไม่กล้าขอประทานเองจึงต้องอาศัยน้องขอให้จึงได้ประทาน” สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ทรงเล่าใน “เจ้านายเล็กๆ-ยุวกษัตริย์” 

     ขอขอบคุณหนังสือ “แสงแห่งแผ่นดิน” ด้วยค่ะ

********************************

     คำกล่าวที่ว่า “ประทานน้องเสียดีกว่า” เป็นข้อความที่น่ารักเป็นอย่างยิ่งและเป็นคำที่ปุ๋ยชื่นชอบมากค่ะ เนื่องจากปุ๋ยรู้สึกว่าในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงเห็นคุณค่าในสิ่งของ แม้ว่าจะเป็นเพียงของเล่นเท่านั้น แต่พระองค์ท่านก็ไม่ทรงให้ของเล่นนั้นเสียหายไป ทำให้เราเข้าใจแล้วว่า เพราะเหตุใดพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงทรงใช้ดินสอจนกุด ทรงรีดหลอดยาสีพระทนต์จนไม่มียาสีพระทนต์แล้วจึงทรงเลิกใช้หลอดยาสีพระทนต์หลอดนั้น ด้วยเหตุนี้เราจึงนำเอาสิ่งที่พระองค์ท่านทรงทำให้พวกเราดูเป็นตัวอย่าง มาใช้ในชีวิตของเราได้ค่ะ หากของสิ่งใดยังคงใช้งานได้ก็อย่าเพิ่งทิ้งค่ะ ใช้ให้คุ้มค่ากับราคาที่เราชำระเงินไปก่อนแล้วค่อยทิ้งนะคะ
     จากเรื่องราวอันน่าประทับใจนี้ ทำให้ปุ๋ยยิ้มออกมาด้วยความที่ทรงน่ารักยิ่งของในหลวงรัชกาลที่ ๙ พระองค์ท่านคงจะทรงเป็นที่รักยิ่งของพระประยูรญาติ ความน่ารักของพระองค์ท่าน ได้สร้างรอยยิ้มให้กับทุกคนที่ได้พบกับพระองค์ท่าน เป็นวาสนาของคนไทยที่ได้มีพระราชาที่ทรงเปี่ยมด้วยพระราชจริยวัตรอันงดงามมาตั้งแต่ครั้งทรงพระเยาว์ เป็นเพียงเจ้านายองค์หนึ่งของชาวไทยเท่านั้น และแม้ว่าในขณะนี้พระองค์ท่านได้เสด็จสู่สวรรคาลัยแล้ว แต่พระองค์ท่านก็ยังคงเสด็จประทับอยู่ในใจของพวกเรา ผ่านทางเรื่องราวในพระราชประวัติ ตลอดจนพระราชกรณียกิจต่างๆค่ะ
     หากท่านเหนื่อยล้า ท้อแท้ จากการทำงาน ให้ท่านนึกไปถึงจอมบัลลังก์ที่ทรงงานหนักกว่าผู้ใดในแผ่นดิน แล้วเราจะมีพลังใจสู้งานต่อ เหมือนดั่งที่พระองค์ท่านทรงมีกำลังพระราชหฤทัยจากพสกนิกรของพระองค์ท่านเพื่อการทรงงานค่ะ


 /////////////////////////////////////////////////////////// 

     ข้าพระพุทธเจ้าน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชอย่างหาที่สุดมิได้



+++++++++++++++++++++++++++++++

     ฉันคือคนหนึ่งที่ชื่อปุ๋ย

     วันศุกร์ที่ ๒๙ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒